ประวัติคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

ประวัติคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

คณะภราดาเซนต์คาเบรียล เป็นคณะนักบวชคาทอลิกคณะหนึ่งซึ่งขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปาที่นักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต เป็นผู้ก่อตั้งคณะฯ และ บาทหลวงกาเบรียล เดแอ เป็นผู้ฟื้นฟูคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ขึ้น คณะภราดาเซนต์คาเบรียลมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี สมาชิกประกอบด้วยภราดาที่ทำงานรับใช้พระเป็นเจ้าผ่านทางการให้การศึกษาแก่เยาวชน และเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อคนยากจน ตามจิตตารมณ์ของนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต

บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์

ในปี ค.ศ.1877 (พ.ศ.2420) บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ บาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ได้รับตำแหน่งเป็นอธิการโบสถ์อัสสัมชัญ ด้วยอุดมการณ์อันมั่นคงของท่านที่อยากจะให้วิชาความรู้แก่เด็กชาวสยาม เพื่อเป็นวิทยาทานและด้วยความเมตตาธรรม ท่านได้รับเด็กกำพร้าเข้าไว้ในความดูแลของท่านสิบกว่าคน เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนวิชา ไว้เป็นกำลังของครอบครัวและประเทศชาติ

เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์

จนกระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) ท่านได้เปิดสอนเป็นทางการใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศ” หรือ โรงเรียนอัสสัมชัญ ในปัจจุบัน (จากชื่อเดิม “โรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศ” ภายหลัง เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ได้ขอเปลี่ยนเป็น “โรงเรียนอัสสัมชัญ” ซึ่งมีความหมายว่า “ตำแหน่งที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้ (ที่อยู่ของความรู้)” ในเวลาเดียวกันก็ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “ASSUMPTION” ซึ่งหมายถึง “แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ” ซึ่งเป็นนามของโรงเรียนอัสสัมชัญ)

เนื่องด้วยคุณพ่อต้องดูแลทั้งโบสถ์และโรงเรียน ที่กำลังขยายกิจการใหญ่โตขึ้น จึงเป็นภาระหนัก ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเชิญคณะนักบวชที่สอนเรียน (Teaching Congregation) มาช่วยรับภาระโรงเรียนแทนท่าน ใน ค.ศ. 1900 (พ.ศ.2443) ท่านเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสเพื่อรักษาตัว ท่านได้พบกับอัคราธิการเจ้าคณะเซนต์คาเบรียลในสมัยนั้น จึงตกลงว่าจะส่งภราดาคณะเซนต์คาเบรียลชุดแรก 5 ท่าน มารับช่วงงาน วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1901 (พ.ศ.2444) ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลชุดแรกมี

ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลชุดแรก 5 ท่าน

1.เจษฎาจารย์มาร์ติน เดอ ตูร์
            2.เจษฎาจารย์อาแบล
            3.เจษฎาจารย์ออกุส
            4.เจษฎาจารย์คาเบรียล ฟาเร็ตตี
            5.เจษฎาจารย์ ฟรังซัว ฮีแลรฺ (ฟ. ฮีแลร์ )

            ได้มาถึงกรุงเทพฯ โดยทางเรือแต่ละท่านต้องฝึกฝนภาษาไทยให้ชำนาญ โดยเฉพาะเจษฎาจารย์ ฟรังซัว ฮีแลร์ ท่านได้มุมานะจนเรียนได้อย่างแตกฉานและเขียนหนังสือให้เด็กไทยได้เรียนภาษาไทยด้วย คือ หนังสือดรุณศึกษา

หนังสือดรุณศึกษา

ต่อมาท่านบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ ได้ยกโรงเรียนนี้ให้ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลเข้ามาดำเนินการต่อ คณะภราดาเซนต์คาเบรียลจึงได้เริ่มฝังรกรากในประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ.2444 (ค.ศ.1901) เป็นต้นมา
       การดำเนินงานให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลในโรงเรียนอัสสัมชัญ ทำให้ชาวไทยบังเกิดความศรัทธาต่อวิธีการฝึกอบรมนักเรียนของคณะภราดาอย่างกว้างขวาง ได้มีการเรียกร้องให้สร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้น ผู้มีจิตศรัทธาหลายท่านได้บริจาคที่ดินและให้การสนับสนุนแก่คณะภราดาด้านต่างๆ จึงมีการสร้างโรงเรียนขึ้นอีกหลายแห่งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และได้มีกุลบุตรชาวไทยอุทิศตน ปฏิญาณตนเพื่อรับใช้พระศาสนาในคณะเซนต์คาเบรียลจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ กิจการของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยได้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยเป็นอย่างสูง มีสถาบันการศึกษาในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยอยู่ทั่วประเทศ ดังนี้

สถาบันการศึกษาในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย
ลำดับ สถาบัน ที่ตั้ง ค.ศ. ก่อตั้ง พ.ศ. ก่อตั้ง
1 โรงเรียนอัสสัมชัญ (AC) กรุงเทพฯ 1885 2428
2 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล (SG) กรุงเทพฯ 1920 2463
3 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม (MC) เชียงใหม่ 1932 2475
4 โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ (ACC) กรุงเทพฯ 1939 2482
5 โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา (ACS) ชลบุรี 1944 2487
6 โรงเรียนเซนต์หลุยส์ (SL) ฉะเชิงเทรา 1948 2491
7 ยุวลัยเซนต์หลุยส์ แมรี่ (SLJ) ชลบุรี 1948 2491
8 มูลนิธิเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (SGF) กรุงเทพฯ 1953 2496
9 โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง (ACL) ลำปาง 1958 2501
10 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี (ACT) กรุงเทพฯ 1961 2504
11 โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง (ACR) ระยอง 1963 2506
12 โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี (ACU) อุบลราชธานี 1965 2508
13 โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา (ACN) นครราชสีมา 1967 2510
14 โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม (ACP) กรุงเทพฯ 1967 2510
15 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (AU,ABAC) กรุงเทพฯ 1969 2512
16 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกประถม (MCP) เชียงใหม่ 1970 2513
17 โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ (ACSP) สมุทรปราการ 1979 2522
18 บ้านนักศึกษาเซนต์คาเบรียล (SGS) นครปฐม 1983 2526
19 นวกสถาน เดอ มงฟอร์ต (MNS) เชียงใหม่ 1985 2528
20 โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการนครราชสีมา (ACCN) นครราชสีมา 1993 2536
21 ศูนย์พัฒนาบุคลากรอัสสัมชัญ (APDC) กรุงเทพฯ 1996 2539
22 โรงเรียนอัสสัมชัญเทคนิคนครพนม (ATSN) นครพนม 1998 2541
23 สมาพันธ์สมาคมศิษย์เก่่าสถาบันในเครือ (CGA) กรุงเทพฯ 1999 2542
24 สมาพันธ์สมาคมผู้ปกครองฯสถาบันในเครือ (CGPTA) กรุงเทพฯ 1999 2542
25 บ้านมงฟอร์ตเพื่อการศึกษา อ.จอมทอง (AC) เชียงใหม่ 2003 2546