หลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต เป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของประเทศฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1673 (พ.ศ.2216) ณ บ้านเลขที่ 15 ถนนลู เดอ ลา โซลเนรี (Rue De La Saullnerie) เมือง มงฟอร์ต ซูเมอร์ ( Montfort-sur-Meu) เมืองเล็กๆ ทางตะวันตกของ Rennes ในแคว้น Bretagne (Brittany) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.1643 - 1715 : พ.ศ.2186 - 2258) ซึ่งนับเป็นยุคที่ฝรั่งเศสรุ่งเรืองที่สุดในยุโรปตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ครอบครัวของ หลุยส์ เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ บิดาชื่อ ยีน บับติสต์ กรีญอง มารดาชื่อ ยีน โรแบรต์ กรีญอง เมื่อหลุยส์ กรีญองเติบโตขึ้น ได้ใช้พระนาม มารี ของแม่พระเสริมชื่อเข้าไปด้วย เพราะท่านศรัทธาต่อแม่พระมาก เมื่อได้รับศีลล้างบาปที่เมืองมงฟอร์ตจึงใช้นามเต็มว่า หลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต (หลุยส์ มารี กรีญอง แห่งเมืองมงฟอร์ต) บิดาของท่านมีอาชีพทนายความ มีฐานะยากจน ท่านมีพี่น้องรวม 18 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 10 คน พี่ชายของหลุยส์เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 5 เดือน ดังนั้นหลุยส์ มารี จึงกลายเป็นบุตรคนโตของคอบครัว ในวัยเด็กหลุยส์ มารี ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านบัวมาร์เกร์ (Bois-Mar-Quer) หลุยส์ มารี รักพ่อแม่และน้อง ๆ ทุกคนมาก ท่านช่วยมารดาทำงานสารพัด ท่านเป็นนักเรียนที่เอาจริง เอาจังกับการเรียนและสอบได้เป็นที่หนึ่งของชั้นเสมอ
เมื่ออายุได้ 12 ปี หลุยส์ มารี ได้เดินทางไปเรียนในโรงเรียนของพระสงฆ์คณะเยซูอิต (Jesuit College of St.Thomas Becket) ที่เมือง Rennes ซึ่งเป็นบ้านเกิดของมารดา โดยพักอยู่กับพระสงฆ์ซึ่งเป็นน้องชายของมารดาระยะหนึ่ง กระทั่งเมื่อครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เมือง Rennes แล้วจึงมาพักอยู่กับครอบครัว พร้อมกับเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้จนอายุได้ 19 ปี
การได้ศึกษาอยู่กับคณะพระสงฆ์เยซูอิต ตลอด 7 ปีดังกล่าว ได้บ่มเพาะให้หลุยส์ มารี มีความรักต่อผู้คนทุกข์ยากมากยิ่งขึ้น และเป็นเหตุปัจจัยในการส่งให้ตัดสินใจบวชเป็นพระสงฆ์ในเวลาต่อมาด้วย และจากการบวชเป็นพระสงฆ์นี้เอง ทำให้หลุยส์ มารี มีโอกาสไปศึกษาต่อในบ้านเณรที่กรุงปารีส โดยเป็นเณรใหญ่ ที่บ้านเณรใหญ่ แซงต์ ซูลปิส (Seminary of Saint-Sulpice) เป็นเวลา 8 ปี และได้บวชเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุ 27 ปี
หลังการรับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์แล้ว คุณพ่อหลุยส์ มารี ได้อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านยากจนในบ้านสงเคราะห์คนยากจนหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นที่ ปัวติเอร์ (Poitiers) ปารีส (Paris) และที่ ดีนัง (Dinan) ก่อนที่จะเริ่มตั้งคณะสงฆ์ The Company of Mary ต่อมาได้รับการเรียกขานในฐานะ Montfort Missionaries ทำงานเทศน์สอนชาวบ้านชนบทในเมืองน็องต์ (Nantes) และเพียงระยะเวลา 2 ปีของการเทศนาธรรม ผู้คนในเขตนี้ต่างเรียกขาน หลุยส์ มารี ว่า"the good Father from Montfort" โดยหลังจากทำงานเผยแผ่ธรรมอยู่ที่เมืองน็องต์ (Nantes) ถึง 3 ปี จึงได้ย้ายเขตงานมาที่เมือง ลา โรแซล (La Rochelle) พร้อมกับการเริ่มเปิดโรงเรียนการกุศลขึ้นในปี ค.ศ. 1711 (พ.ศ. 2254) โดยมีการตั้งคณะภคินี (Daughters of Wisdom) เพื่อช่วยงานในโรงเรียนหญิง และ ตั้งกลุ่มภราดา (Brothers of the Holy Spirit) ให้ช่วยดูแลโรงเรียนชาย
ภารกิจของคุณพ่อหลุยส์ มารี ในช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก และทำให้คุณพ่อหลุยส์ มารี ต้องเดินทางไปยังปารีส และรูอัง (Rouen) เพื่อเชิญชวนและหานักบวชมาร่วมงานในคณะสงฆ์ Company of Mary แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ กระทั่งในปี ค.ศ. 1716 ขณะเทศนาธรรมในหมู่บ้านแซง ลอแรงต์ (Saint-Laurent-sur-Sevre) หลุยส์ มารี ก็ล้มป่วยลง และมรณภาพ ในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1716 (พ.ศ. 2259) ด้วยอายุได้เพียง 43 ปี 3 เดือนเท่านั้น โดยการเดินทางทั้งหมดในชีวิตของคุณพ่อหลุยส์ มารี เป็นการเดินทางโดยเท้าทั้งสิ้น ด้วยคุณความดีที่คุณพ่อหลุยส์ มารี ได้กระทำไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุญราศีในปี ค.ศ.1888 (พ.ศ. 2431) โดยพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 16 และในเวลาต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักบุญ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 (พ.ศ.2490) โดยพระสันตปาปาปีโอที่ 12
อนุสรณ์สถานเกี่ยวกับนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต นอกจากจะปรากฏเป็นประติมากรรมอยู่ที่ โบสถ์ เซนต์ ปีเตอร์ (St.Peter's Basilica) ใน Rome แล้ว ผู้ที่ศรัทธาและต้องการเจริญรอยตามแนวทางของนักบุญหลุยส์ มารี ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ The Company of Mary, คณะภคินี The Daughters of Wisdom และคณะภราดา The Brothers of the Holy Spirit หรือที่ในปัจจุบันอยู่ภายใต้ชื่อ The Brothers of St. Gabriel ซึ่งล้วนมีจุดกำเนิดจากนักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต ต่างร่วมปฏิบัติงานสานต่อปณิธานและได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรทางศาสนาภายใต้ชื่อ The Montfortian Religious Family เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางของ St. Louis Marie Grignion de Montfort อีกด้วย